ผลสำรวจล่าสุด ชี้ชัดว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ปี 2562 จะเติบโตได้ดีและมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8-10 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและการเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กอปรกับอุตสาหกรรมนี้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S curve) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคให้ได้ในเร็ววัน
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมนี้ยังเข้าข่ายที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับนักลงทุน เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากการเข้ามาของผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น และเกิดผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะขนาดกลางและเล็กที่ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ประเทศไทยเชี่ยวชาญในการผลิต ยังคงเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อนมากนักเช่น ถุงมือยาง หลอดฉีดยา ดังนั้น ในระยะยาวอาจส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลงจากที่คาดการณ์ไว้
เจาะตลาด ‘อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์’ ชี้โอกาสและจุดด้อยเพื่อพัฒนาต่อเนื่อง
จากบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของ ธนาคารออมสิน ล่าสุด (เมษายน 2562) พบประเด็นสำคัญที่บ่งชี้ถึงการเติบโตของ ตลาด ‘อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์’ ของไทย ดังนี้
- การส่งออกและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ขยายตัวได้ดี
โดยเฉพาะวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่มีความต้องการอย่างสม่ำเสมอ ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการให้บริการสาธารณสุข และการเป็นวัสดุการแพทย์สิ้นเปลืองที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ที่ผลิตจากยางพารา และหลอดฉีดยา/หลอดสวน และอุปกรณ์ทำแผล เป็นต้นโดยการส่งออกเครื่องมือแพทย์ในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.16 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 107,766 ล้านบาท
- ตลาดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคคาดว่าจะเติบโตได้ดี
โดยเฉพาะชุดตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการเฝ้าระวังการเกิดโรค ในโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนสร้างหน่วยตรวจโรคเคลื่อนที่ในระดับชุมชน นำไปสู่ความต้องการใช้ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิต ตรวจสอบการขายอาหารในตลาด ส่งผลให้ชุดตรวจสารปนเปื้อนในอาหารมีความต้องการสูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศยังมีไม่มากและกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่มีฐานการผลิต ตรงนี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในไทยในการขยายธุรกิจการผลิตด้านนี้
- ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ‘ครุภัณฑ์ทางการแพทย์เชิงนวัตกรรม’ อย่างต่อเนื่อง
อย่าง เครื่องมือการแพทย์เชิงนวัตกรรม เนื่องจากไทยยังขาดความพร้อมในการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีข้อด้อยในด้านการพัฒนาสินค้าทางการแพทย์ด้วยนวัตกรรม แต่สำหรับการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน อาทิ เตียงและเก้าอี้ผู้ป่วย ประเทศไทยก็สามารถผลิตสินค้าประเภทนี้ได้และมีคุณภาพดี ราคาไม่สูง สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศได้สบาย
นักลงทุนไทยอยากรุ่ง ต้องตามเทรนด์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในอนาคต ให้ทัน
แม้ว่าไทยยังด้อยในการเป็นผู้นำการผลิต เครื่องมือการแพทย์เชิงนวัตกรรม หรือ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ก็มีการอัปเดตและปรับใช้วิทยาการทางการแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในตอนนี้เทคนิคการผ่าตัดโดยวิธีการบาดเจ็บน้อย (minimal invasive) ได้รับความนิยมอย่างสูง และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านความสามารถของมนุษย์
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดระบบดาวินซี (Da Vinci Surgical System Robot) จากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถูกออกแบบมาให้สามารถทำหน้าที่ช่วยผ่าตัดได้หลายอวัยวะเพื่อการรักษาโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางนรีเวช มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ นิ่วในถุงน้ำดี ไขข้อกระดูก เนื้องอกสมอง โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐในปี 2000 และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ขณะที่ปลายปี 2016 มีการติดตั้ง da Vinci แล้ว จำนวน 3,803 เครื่องทั่วโลก ซึ่งอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 6 เครื่อง โดยตั้งอยู่ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยรัฐ 5 เครื่อง และในโรงพยาบาลเอกชน 1 เครื่อง
โดยปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ช่วยผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และมีความแม่นยำมากกว่าการผ่าตัดด้วยมือของศัลยแพทย์แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อจำกัดของการใช้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมถึงศัลยแพทย์ที่จะทำการบังคับและควบคุมหุ่นยนต์ประเภทนี้ได้จะต้องได้รับการฝึกฝนและเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น
เปิดปัจจัยเสี่ยงต่อ ‘อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์’ ในปี 2562
ต่อมา นางสาวชมภูนุช แตงอ่อน หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคการค้า ส่วนเศรษฐกิจรายสาขาศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ผู้เขียนบทความวิเคราะห์ชิ้นนี้ได้กล่าวถึง ปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ในปี 2562 ดังนี้
- ขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต
แม้ว่าไทยจะมีผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ส่งผลให้เทคโนโลยีในการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยยังไม่ทัดเทียมกับผู้ผลิตในต่างประเทศ ทำให้ไทยต้องนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า เครื่องรังสีอัลตราไวโอเลตหรืออินฟราเรด และเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไฟฟ้า เป็นต้น
- มีการแข่งขันค่อนข้างสูง
เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะใกล้เคียงกัน ประกอบกับการเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการในตลาดมากขึ้น
- ศูนย์ทดสอบมาตรฐานและรับรองคุณภาพมีไม่เพียงพอ
ส่งผลให้การผลิตเครื่องมือแพทย์ในแต่ละครั้งต้องมีการส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง